Inno aday



ปี 2018 นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น


ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์


และหุ่นยนต์

_____________________________________________________________________

By CHONNIKARN TRIYOS

Updated March 7th, 2018 

BB-8, C-3PO, R2-D2, WALL-E, Baymax หรือ Jarvis เจ้าหุ่นยนต์เหล่านี้อาจจะไม่ได้มีแค่ในภาพยนตร์อีกต่อไป

 

ปี 2018 นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับหุ่นยนต์ ที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกันและกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับหุ่นยนต์ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ หุ่นยนต์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ทั้งในด้านการเกษตร การดูแลสุขภาพ โลจิสติกส์ ความปลอดภัย และการค้าปลีก การทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์จะทำให้งานมีความปลอดภัยและยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

อนาคตของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์จะเป็นอย่างไรต่อไป เรามาดูกันว่าเจ้าแม่ด้านหุ่นยนต์อย่าง Ayanna Howard มีมุมมองอย่างไรในเรื่องนี้

 

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเธอกันก่อน ปัจจุบัน Ayanna Howard เป็นประธานของ School of Interactive Computing และผู้อำนวยการ Human-Automation Systems Lab ที่ Georgia Tech เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ CTO ของ Zyrorobotics ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กและยังเป็นสมาชิกอาวุโสของ Institute of Electrical and Electronics Engineers ที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย 

 

Ayanna Howard ได้ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์มากมาย รวมถึงหุ่นยนต์ SnoMote ของ JPL ซึ่งใช้สำหรับการค้นคว้าบริเวณธารน้ำแข็ง และปัจจุบันเธอกำลังทำงานเกี่ยวกับ exoskeleton ที่สามารถช่วยเด็กที่พิการด้านการเคลื่อนไหว 

 

แม้ว่าในอนาคตอันใกล้เราจะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่มีความกลัว เธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า “หุ่นยนต์ก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีส่วนที่ไม่ดี แต่ถ้าเราสร้างหุ่นยนต์อย่างถูกวิธี ย่อมมีผลดีมากกว่าผลเสีย หุ่นยนต์จะช่วยให้คนสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนจบวิศวกรรม”

 

ส่วนในด้านการศึกษา เธอกล่าวว่า “หุ่นยนต์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างแน่นอน มันจะเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนคณิตศาสตร์ และจะเป็นหนึ่งในตัว R ทั้งหลาย ได้แก่ ‘Reading, 'Riting,' Rithmetic and Robotics’ หุ่นยนต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจลำดับ การคิดคำนวณ เกี่ยวกับสิ่งที่ทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง และเด็กจะสามารถเห็นผลงานที่สร้างจากความคิดของพวกเขา” 

 

ในด้านการเกษตร “หุ่นยนต์ได้มีส่วนอยู่ในด้านการเกษตรมาสักพักแล้ว หุ่นยนต์ใหม่ ๆ ที่เราเห็นจะมุ่งไปที่การเก็บเกี่ยวหรือส่วนอื่น ๆ ที่ยากกว่านั้น แม้แต่ชาวไร่ชาวสวนท้องถิ่น ยังผลักดันการใช้หุ่นยนต์เพื่อให้เท่าทันการเกษตรในปัจจุบัน และตอนนี้แรงผลักดันก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ”

 

แล้วอนาคตของคนที่ทำงานกับหุ่นยนต์ล่ะจะเป็นอย่างไร? "หุ่นยนต์กำลังเปลี่ยนโฉมรูปแบบทางเศรษฐกิจ 65% ของงานที่มีอยู่ตอนนี้จะไม่มีอีกต่อไปเมื่อเด็กรุ่นนี้โตขึ้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องคิดเกี่ยวกับการฝึกอบรมใหม่ ให้คนได้เรียนรู้ทักษะที่แตกต่างออกไป หลายบริษัทเริ่มคิดถึงเรื่องนี้แล้ว แต่เราจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้กันให้มากขึ้น"

 

แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์อันปลอดภัยและพึ่งพาได้ คือ AI และ โมเดลและเซ็นเซอร์ของ Machine Learning การนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใส่ในหุ่นยนต์ ก็จะทำให้มันไวต่อความรู้สึก สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่อาจเป็นอันตรายได้ และสามารถรับคำสั่งได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย แล้วก็จะทำให้มนุษย์และหุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ความท้าทายคือการเพิ่มความฉลาดเข้าไปในส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถสำหรับหุ่นยนต์ในการเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจ

 

นอกจาก Siri ของ Apple, Cortana ของ Microsoft, Echo และ Alexa ของ Amazon, Google Home และ chatbot ต่าง ๆ แล้ว จะมีอะไรวางขายให้คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ได้ซื้อมาใช้กันอีกบ้าง ต้องมาลุ้นกัน!

 

ที่มา: forbes, automatica-munich, cpacanada

 

By Bangkok Innovation House Team